CE Mark

รู้จัก CE Marking: มาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรมของ EU Print E-mail

Written by สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซลส์
Wednesday, 23 January 2008

CE Marking หรือการประทับตรา (ตัวอักษรย่อมาจากคำในภาษาฝรั่งเศสว่า “Conformité Européene” ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษคือ “European Conformity”) เป็นเครื่องหมายแสดงว่าสินค้านั้นมีการออกแบบและการผลิตที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยตามข้อกำหนดในระเบียบข้อบังคับด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม EU เพื่อให้ผู้บริโภคใน EU มีความมั่นใจถึงความปลอดภัยในการใช้สินค้าและการจัดการตามมาตรการพิทักษ์รักษาและลดผลกระทบที่อาจมีต่อสิ่งแวดล้อม

ข้อมูลและขั้นตอนในเรื่องมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรมยุโรปภายใต้ระบบ New Approach Standardisation เพื่อปรับประสานมาตรฐานสินค้าของประเทศสมาชิก EU ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันและเอื้ออำนวยต่อการไหลเวียนของสินค้าอย่างเสรีในตลาดภายใน สามารถดูทางเว็ปไซท์http://www.newapproach.org/ ซึ่งจัดทำขึ้นร่วมกันโดยหน่วยงานด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ของ EU ทั้ง 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย

CEN – European Committee for Standardization
CENELEC – European Committee for Electrotechnical Standardization
ETSI – European Telecommunications Standards Institute
การประทับตรา บนสินค้าอุตสาหกรรมที่วางจำหน่ายใน EU ได้เริ่มบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2536 ครอบคลุมผลิตภัณฑ์รวม 22 กลุ่มสินค้า[1] อาทิเช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ก่อสร้าง หม้อน้ำร้อน ตู้เย็น/ตู้แช่แข็ง ลิฟท์ เครื่องจักร อุปกรณ์การแพทย์ เครื่องชั่ง อุปกรณ์สื่อสาร และของเล่น ทั้งนี้ การผลิตสินค้าดังกล่าวส่งออกไปขายในตลาด EU และ EFTA จะต้องมีตรา ติดบนผลิตภัณฑ์ จึงสามารถวางจำหน่ายในตลาดดังกล่าวได้

ขั้นตอนขออนุญาตติดตรา CE Marking สามารถดูทางเว็ปไซท์ http://www.ce-marking.org/what-is-ce-marking.html โดยมีขั้นตอนสำคัญคือ

ตรวจสอบว่า มีระเบียบข้อบังคับใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับสินค้าของเรา
ตรวจสอบว่าสินค้าของเรามีความความสอดคล้องกับข้อกำหนดสำคัญๆ ด้านการออกแบบและการผลิต ตามข้อกำหนดในระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องเพียงใด
เลือกขั้นตอน conformity assessment จากทางเลือกต่างๆ (options or modules) :
Module A: internal production control
Module Aa: intervention of a Notified Body
Module B: EC type-examination
Module C: conformity to type
Module D: production quality assurance
Module E: product quality assurance
Module F: product verification
Module G: unit verification
Module H: full quality assurance

ทั้งนี้ ระเบียบข้อบังคับมักใช้ชุดคำถามที่สอบถามเกี่ยวกับคุณลักษณะสินค้า เพื่อจัดประเภทของระดับความเสี่ยง โดยอ้างอิงทางเลือกที่ยอมให้ผู้ผลิตรับรองสินค้าของตนและติดตรา CE marking ได้

สำหรับสินค้าที่มีความเสี่ยงน้อย ทางโรงงานผู้ผลิตสามารถตรวจสอบและรับรองความปลอดภัยของสินค้าตนเองได้ โดยจัดทำใบรับรอง (Declaration of Conformity) และติดตรา บนสินค้าตน แต่ในกรณีสินค้าที่มีความเสี่ยงสูง ระเบียบข้อบังคับจะกำหนดให้มีการตรวจสอบรับรองโดยหน่วยงานอิสระ (Notified Body) ทั้งจากภาครัฐและเอกชนของประเทศสมาชิก EU ประเทศสมาชิก EFTA และประเทศที่มีความตกลง MRA กับ EU ได้แก่ สหรัฐฯ และออสเตรเลีย ซึ่งคณะกรรมาธิการยุโรปได้ให้การรับรองและประกาศใน Official Journal แล้ว (ข้อมูลในเว็ปไซท์ http://www.ce-marking.org/list-of-notified-bodies.html มีหน่วยงาน Notified Body ราว 1,000 แห่ง) หน่วยงานเหล่านี้จะทำการตรวจสอบสินค้าในห้องปฏิบัติการตามขั้นตอนที่กำหนดในข้อบังคับ และมักให้บริการ เช่น

– การทดสอบผลิตภัณฑ์
– การออกใบรับรองผลการตรวจสอบ
– การประเมินแฟ้มข้อมูลด้านเทคนิค และข้อมูลการออกแบบสินค้า
– ระบบคุณภาพและการเฝ้าระวังสินค้า
– การกำหนดมาตรฐาน

หากสินค้าของเราอยู่ในข่ายที่จะต้องตรวจสอบรับรองโดย Notified Body ก็จะมีขั้นตอนที่ต้องเลือกแบบมาตรฐานสินค้า วิธีการทดสอบ และ Notified Body หลังจากนั้น ต้องจัดตั้งตัวแทน Authorized Representative ใน EU และจัดทำแฟ้มข้อมูลด้านเทคนิคสำหรับตรวจพิสูจน์ว่าสินค้าของเราผ่านการทดสอบอย่างถูกต้องและสอดคล้องกับข้อกำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง
การจัดทำใบรับรอง Declaration of Conformity ต้องบรรจุข้อมูลที่เพียงพอสำหรับการตรวจย้อนกลับไปยังโรงงานผู้ผลิต หรือ Authorized Representative ใน EU โดยระบุรายชื่อข้อบังคับและมาตรฐานต่างๆ ที่สินค้าของเรามีความสอดคล้อง คุณลักษณะสินค้า ชื่อโรงงานผู้ผลิต ที่อยู่ และลายเซ็นต์ผู้มีอำนาจ
สินค้าบางกลุ่ม เช่น อุปกรณ์การแพทย์ จะต้องมีการจดทะเบียนใน EU ด้วย ซึ่งหากได้รับการอนุมัติ จะมีใบทะเบียน (Certificate of Registration) กำกับ มิฉะนั้น จะไม่สามารถวางจำหน่ายในตลาดยุโรปและติดตรา CE marking ได้
นอกจากนั้น ยังมีระเบียบเฉพาะเกี่ยวกับขนาดและตำแหน่งในการติดตรา CE marking บนตัวสินค้า หีบห่อบรรจุภัณฑ์ และเอกสารในการขนส่งสินค้า รวมทั้งข้อจำกัดเฉพาะในประเด็นเมื่อไรและใครได้รับอนุญาตให้ติดตรา CE marking